วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

เกษตรระยอง ประชุมหารือแนวทางดำเนินการขอมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP

      วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2566 นางสาววรนุช สีแดง เกษตรจังหวัดระยอง พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ประชุมหารือแนวทางการดำเนินการขอมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP โดยมีนายนพดล แดงพวง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยองเข้าร่วมประชุมด้วย และมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองระยอง แกลง บ้านค่าย ปลวกแดง วังจันทร์ เขาชะเมา และอำเภอนิคมพัฒนา ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกษตรกรถูกยกเลิกในกิจกรรมมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP ร่วมกัน ในแต่ละรายอำเภอ ทั้งในส่วนของงบ MOU และงบจังหวัด ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง 

    โดยโครงการส่งเสริมการผลิตไม้ผลและพืชเศรษฐกิจจังหวัดระยอง ปี 2566 (กิจกรรมย่อย 1.2 งบจังหวัด) มีเกษตรกรเข้าระบบจำนวน 200 ราย ได้รับใบรับรอง 148 ราย ยกเลิก 20 ราย และอยู่ในระหว่างการตรวจ 32 ราย 

    ส่วนโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน GAP ปี 2566 (งบ MOU) มีเกษตรกรเข้าระบบจำนวน 140 ราย ได้รับใบรับรอง 118 ราย ยกเลิก 16 ราย และอยู่ในระหว่างตรวจ 6 ราย







วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

เกษตรระยอง ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากจังหวัดอำนาจเจริญ

     วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2566 นางสาววรนุช สีแดง เกษตรจังหวัดระยอง มอบหมายให้เจ้าหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอแกลง และอำเภอเมืองระยอง ลงพื้นที่ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากจังหวัดอำนาจเจริญ โดยคณะศึกษาดูงานได้แก่เจ้าหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญและเกษตรกร บุคคลเป้าหมายจำนวน 80 ราย เดินทางมาศึกษาดูงานแปลงปลูกพืชไม้ผลเศรษฐกิจ ภายใต้กิจกรรมศึกษาดูงานแปลงปลูกพืชไม้ผลเศรษฐกิจ (ทุเรียน เงาะ) ต้นแบบโครงการส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกใหม่เพื่อเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ในภาคเช้าทางคณะได้ศึกษาดูงานที่ สวนรื่นรมย์ ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยวิทยากร นายวสันต์ รื่นรมย์ เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวนระดับประเทศ ได้บรรยายในเรื่องการจัดการสวนทุเรียน เริ่มตั้งแต่การเริ่มปลูก การดูแลรักษา จนกระทั่งติดดอกออกผล โรคและแมลง การให้น้ำแบบประหยัด การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการสวนทุเรียน และในภาคบ่ายทางคณะได้ศึกษาดูงานที่ สวนชลมาศ ตำบลนาตาขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โดยวิทยากร นางสาวศุภลักษณ์ ชลมาศ ประธานแปลงใหญ่มังคุดตำบลนาตาขวัญ ได้บรรยายให้ความรู้ในเรื่องของการผลิตเงาะ โดยให้ข้อคิดในด้านแนวคิด การปลูก การดูแลรักษา การบริหารจัดการสวน และการตลาด ให้แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ที่มาศึกษาดูงานได้นำวิธีการ แนวคิด ไปปรับใช้ในการปลูกไม้ผลในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญต่อไป










วันพุธที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

เกษตรระยอง เชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดมันสำปะหลัง

👉 วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง จัดประชุมเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดของมันสำปะหลัง ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอำเภอเมืองระยอง และอำเภอนิคมพัฒนา ณ ห้องประชุมโรงเรียนอนุบาลทับมา อำเภอเมืองระยอง

📚 โดยมีวิทยาการจากศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ให้ความรู้ พูดคุยในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง และบริษัท ไทวา จำกัด ร่วมพูดคุยเรื่องตลาดของมันสำปะหลัง ราคา เปอร์เซ็นแป้ง และความต้องการมันสำปะหลังของโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังในจังหวัดระยอง

👨‍🌾 เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญในการผลิต ตลาด การรวมกลุ่ม ตลอดจนถึงการทำข้อตกลงการผลิตล่วงหน้า เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมฯ นำแนวคิด “ตลาดนำการผลิต” ไปใช้ในการทำการเกษตรของตน













วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

เกษตรระยอง เข้าร่วมอบรมการเตรียมความพร้อมสู่มาตรฐานน้ำผึ้งชันโรง

    วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2566 นางสาววรนุช สีแดง มอบหมายให้นายอิสระ บุญเย็น นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร และนางสาวพิมณิศา ตันติชุฬา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ  กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต เข้าร่วมอบรมการเตรียมความพร้อมสู่มาตรฐานน้ำผึ้งชันโรง โดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม  AIC จังหวัดระยอง ท่านวิทยากร ดร.จักราวุธ ไม้ทิพย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง โดยมีหัวข้อในการอบรมดังนี้

    สถานการณ์การเลี้ยงชันโรงและแมลงเศรษฐกิจในภาคตะวันออก ในจังหวัดระยองมีผู้เลี้ยงชันโรงจำนวน 65 ราย มีจำนวน 1,130 รัง โดยการสร้างมาตรฐานน้ำผึ้งและชันโรงในการปฏิบัติในการขอใบรับรอง GAP จากกรมปศุสัตว์ จะต้องผ่านการอบรมก่อน ซึ่งมีหลักปฏิบัติ 8 ข้อได้แก่ 1. องค์ประกอบฟาร์ม 2. การจัดการในการเลี้ยง 3. การจัดการผลิตภัณฑ์ 4. การทำความสะอาดและบำรุงรักษา 5. สุขภาพสัตว์ 6. สวัสดิภาพสัตว์ 7. บุคลากร 8. บันทึกข้อมูล และการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่มาตรฐานน้ำผึ้งชันโรงได้รับความรู้ในการปฏิบัติอย่างไร เพื่อได้รับมาตรฐานสินค้าเกษตรจากน้ำผึ้งชันโรง และได้เรียนรู้วิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์สบู่ผสมน้ำผึ้งชันโรงแบบกวนเย็น (Cold Process) ณ ห้องประชุม ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี












วันอังคารที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

เกษตรระยอง เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการติดตามประเมินผลโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่

    วันที่ 3-4 มิถุนายน 2566 นางสาววรนุช สีแดง เกษตรจังหวัดระยอง มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านค่าย และอำเภอปลวกแดง เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการติดตามประเมินผลโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยมีกิจกรรมสัมมนาดังนี้

    ศึกษาดูงานกลุ่มแปลงใหญ่พืชผักที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศปี 2564 หมู่ 7 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยนายดวงจันทร์ ชาบรรทม ได้บรรยายให้ความรู้ในเรื่องงผลการดำเนินงานและปัจจัยที่ทำให้แปลงใหญ่ประสบความสำเร็จในหลัก 5 ด้านของแปลงใหญ่ ได้แก่ 1.ลดต้นทุนการผลิต 2.เพิ่มผลผลิต 3.เพิ่มคุณภาพผลผลิต 4.การบริหารจัดการ 5.จัดการด้านการตลาด ในแต่ละด้านว่าเขามีวิธีการทำอย่างไร และถอดบทเรียนของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จเพื่อนำมาแบ่งกลุ่มนำเสนอผลงาน

    เข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรม เซเรนิตี้ โฮลเทล แอนด์ สปา อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีกิจกรรมแบ่งกลุ่มระดมสมองแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงาน เสนอแนะแนวทางการแก้ไข และการป้องกันความเสี่ยง สะท้อนปัญหาการขับเคลื่อนงานระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่  














วันพุธที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2566

เกษตรระยอง นำคณะเกษตรกรจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดภัยบ้านคลองหวายโสม ศึกษาดูงานแปลงใหญ่ผักจ.ฉะเชิงเทราและจ.สระแก้ว

     วันที่ 27-26 มิถุนายน 2566 นางสาววรนุช สีแดง เกษตรจังหวัดระยองมอบหมายให้นายภาสกร ใจแจ่มนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และนางสาวพิมณิศา ตันติชุฬา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต พร้อมด้วยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง และเจ้าหน้าที่สำนักานเกษตรอำเภอวังจันทร์ นำคณะเกษตรกรจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดภัยบ้านคลองหวายโสม อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง จำนวน 10 ราย ที่ต้องการได้รับมาตรฐาน GAP แบบกลุุ่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนำร่องและขยายผลงานส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแบบกลุ่มตามระบบควบคุมภายใน GAP's Internal Control Systems เข้ารับการศึกษาดูงาน ดังนี้

    วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ผักตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีนายดวงจันทร์ ชาบรรทมประธานแปลงใหญ่เป็นวิทยากรระยองแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ในเรื่องการรวมกลุ่มบริหารจัดการกลุ่มในการผลิตผักวางจำหน่ายที่ ห้างสรรพสินค้า Mackro การบริหารจัดการกลุ่มของประธาน การรวมกลุ่มกันทำการตลาด การแพ็คบรรจุภัณฑ์ การวางแผนการผลิตเพื่อให้มีผักเพียงพอต่อความต้องการของตลาด 

    และศึกษาดูงานกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านคลองมะละกอ กลุ่มเพื่อนใจอินทรีย์ ตำบลสระขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นทั้งศูนย์ศพก.และแปลงใหญ่ โดยมีนายยุทธพงษ์ รัตนวิทย์ ประธานกลุ่มเป็นวิทยากร ในการบรรยายเรื่องการปลูกผักอินทรีย์ การได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS การบริหารจัดการกลุ่มโดยให้สมาชิกหักส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานในการแพ็ค การจำหน่ายสินค้าในตลาด ทำให้สมาชิกในกลุ่มมีการบริหารจัดการเวลาเหลือสามารถไปทำอย่างอื่นต่อได้และสมาชิกในกลุ่มมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนกลุ่มมีความเข็มแข็ง มีห้องมาตรฐานสำหรับแพ็คบรรจุภัณฑ์ผักอินทรีย์โดยเฉพาะ มีการบริหารจัดการการทำปุ๋ยหมักใช้เองภายในกลุ่มเป็นการลดต้นทุนและสร้างรายได้จากการขายได้อีกช่องทางด้วย 

    ซึ่งการศึกษาดูงานในครั้งนี้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ได้รับความรู้ในด้านการรวมกลุ่มผลิตผัก ทำให้เกษตรกรสามารถต่อรองราคาทางการตลาดได้ และยังได้รับความรู้ในด้านอื่นๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในอนาคตต่อไปได้